วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

มะรุม


          ปัจจุบันอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งลำไส้ ใหญ่ในประเทศไทยมีอัตราสูงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากรายงานเมื่อปี พ.ศ. 2553 พบว่าเพศชายมีอัตราการป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าเพศหญิง ของอัตราการป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย โดยนิยมกินอาหารที่มีโปรตีนสูงซึ่งมีแหล่งที่มาจากเนื้อแดง รวมทั้งผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน และกินผักผลไม้ในปริมาณต่ำ การบริโภคฝักมะรุมซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านภาวะการอักเสบ จึงเป็นแนวทางสำคัญในการป้องกัน นอกจากนี้ฝักมะรุมยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ คือมีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่เรียกว่า โอเมก้า 9 ในปริมาณสูง ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
          ผศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเลขาธิการสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย บอกว่า จากรายงานการวิจัยพบว่า น้ำมันที่อยู่ในเมล็ดมะรุมสามารถรักษาโรคข้างเคียงเกี่ยวกับผิวหนัง นอกจากนี้ในส่วนต่าง ๆ ของมะรุมยังสามารถรักษาโรคไขข้ออักเสบหรือรูมาตอยด์ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ถือเป็นยาสมุนไพรที่ใช้แพร่หลายนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้กระแสความนิยมในการบริโภคมะรุมเพิ่มมากขึ้น และมีการบริโภคในปริมาณมากในรูปของผงมะรุมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับปริมาณมากเกินไป
          จากการศึกษาคุณสมบัติในการต้านภาวการณ์อักเสบของลำไส้ใหญ่ในฝักมะรุมต้ม ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ พบว่า ปริมาณการบริโภคมะรุมมีความสำคัญต่อการป้องกันและบรรเทาอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยในทุกขนาดที่ทำการศึกษา คือ ตั้งแต่ 10-50 เท่าของปริมาณการบริโภคฝักมะรุมต้มในรูปอาหารของผู้ที่บริโภคฝักมะรุมต้มสุก (ขนาดการบริโภคฝักมะรุมต้มเท่ากับ  2 กรัมต่อน้ำหนักตัวคน 1 กิโลกรัมต่อวัน) หากให้กินก่อนในระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะได้รับสารก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่จะสามารถลดความรุนแรงของพยาธิ สภาพของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่ที่น่าสนใจคือในระยะที่เกิดโรคมะเร็งลำไส้แล้ว การบริโภคฝักมะรุมหลังเกิดมะเร็งแล้วในปริมาณต่ำกลับให้ผลดีกว่าการบริโภคฝักมะรุมในปริมาณสูง ผลการศึกษาจึงแสดงให้เห็นว่า การบริโภคมะรุมเพื่อวัตถุประสงค์ในการบรรเทาอาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการบริโภคฝักมะรุมในปริมาณมากก็ไม่ได้มีผลดีเสมอไป
          จากการศึกษาคุณสมบัติในการต้านภาวะการอักเสบของมะเร็งลำไส้ใหญ่ของฝักมะรุมต้มเมื่อทำการทดสอบในหนูทดลองโดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติและคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การดำเนินการวิจัย ได้แบ่งการศึกษาเป็น 3 รูปแบบ คือ
1.             ศึกษาความปลอดภัยในการบริโภค โดยให้หนูทดลองกลุ่มที่อายุน้อยกินฝักมะรุมต้มซึ่งอยู่ในรูปของผงมะรุมต้มผสมอาหารปกติเป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ และหนูกลุ่มที่โตเต็มที่แล้วกินฝักมะรุมต้มเป็นระยะเวลา 15 สัปดาห์ โดยแบ่งปริมาณการบริโภคเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 10 เท่า 25 เท่า และ 50 เท่าของปริมาณการบริโภคฝักมะรุมต้มของคนที่กินมะรุม ซึ่งเป็นปริมาณที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปริมาณการบริโภคโดยทั่วไป ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณฝักมะรุมต้มที่ให้ในทุกระดับจนถึงสูงสุด 50 เท่า ไม่มีผลต่อการส่งเสริมให้เกิดพยาธิสภาพของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

ฝักมะรุม


2.             ศึกษาการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยหนูทดลองกลุ่มนี้กินผงมะรุมต้มผสมอาหารปกติในขนาดเดียวกันกับหนูกลุ่มแรกเป็นเวลานาน 2 สัปดาห์ก่อนหนูได้รับสารก่อมะเร็งและสารส่งเสริมการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และยังคงให้หนูกินผงมะรุมต้มต่อไปอีก 3 สัปดาห์ รวมเป็น 5 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดความรุนแรงของพยาธิสภาพของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับสารก่อมะเร็งและสารส่งเสริมการเกิดมะเร็งโดยไม่ได้รับอาหารที่ผสมผงมะรุมต้ม โดยทุกขนาดของผงฝักมะรุมต้มที่หนูทดลองได้รับสามารถลดพยาธิสภาพของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยเฉพาะในผงฝักมะรุมต้มที่มีปริมาณสูง (50 เท่า) จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดีกว่าในปริมาณอื่น ๆ ซึ่งส่งผลดีในด้านการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

3.             ศึกษาการบรรเทาอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อน แล้วจึงให้กินฝักมะรุมต้มเป็นระยะเวลา 15 สัปดาห์ โดยแบ่งเป็น 3 ขนาดเช่นเดียวกับในหนูกลุ่มอื่น ๆ ผลการศึกษากลับพบว่า ในทุก ๆขนาดของการบริโภคฝักมะรุมสามารถลดความรุนแรงของภาวะการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่มะรุมที่มีปริมาณต่ำ (10 เท่า) กลับให้ผลดีกว่าการให้ผงฝักมะรุมต้มในปริมาณสูง (25 เท่าและ 50 เท่า) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าปริมาณการบริโภคมะรุมในระยะที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วมีความแตกต่างจากการกินระยะก่อนการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ฉะนั้นการบริโภคฝักมะรุมในปริมาณมากก็ไม่ได้มีผลดีเสมอไป โดยเฉพาะในรูปของการนำมาทำเป็นผงแห้งแล้วใส่แคปซูล หรือ ในรูปสารสกัดมะรุมที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งผลในด้านการรักษาหรือป้องกันโรคจะต่างกัน เนื่องจากการนำมาสกัดจะมีสารสำคัญเพียงบางชนิดและอยู่ในรูปของสารเคมีที่มีความเข้มข้น เมื่อกินอย่างต่อเนื่องในปริมาณสูง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นพิษในร่างกาย อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลยืนยันจากการศึกษาในคน ส่วนใหญ่มีเพียงข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในระดับหลอดทดลองและในระดับเซลล์เท่านั้น

          เพื่อตอบสนองความนิยมในการบริโภคมะรุมและป้องกันความเสี่ยงจากการบริโภคมะรุมในปริมาณมากเกินจนอาจเสี่ยงต่ออันตรายของร่างกาย จึงควรบริโภคฝักมะรุมในรูปส่วนประกอบของอาหาร โดยส่งเสริมรายการอาหารที่ใช้ฝักมะรุมเป็นส่วนประกอบ เช่น แกงส้มมะรุมให้มีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น พร้อมสร้างสรรค์รายการอาหารใหม่ ๆ เช่น ยำ หรือแกงชนิด ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการบริโภคฝักมะรุมให้มากขึ้น นอกจากนั้นยังต้องกินอาหารที่มีผักและผลไม้ที่หลากหลายซึ่งอุดมด้วยสารพฤกษเคมีที่มีสารสำคัญในการออกฤทธิ์แตกต่างกัน ให้ผลในเชิงป้องกันโรคและให้คุณค่าทางโภชนาการด้านใยอาหาร ย่อมเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

เมื่อต้องการกินอาหารให้เป็นยา ต้องไม่กินอาหารตามค่านิยมหรือความเชื่อ แต่ควรเลือกกินโดยใช้ความรู้ และรับข้อมูลจากหลาย ๆแหล่ง พร้อมศึกษาและชั่งน้ำหนักข้อมูลให้ดี ใช่ว่าเมื่อกินอาหารชนิดนั้นในปริมาณมากแล้วจะส่งผลในด้านดีทั้งหมด จึงต้องพิจารณาด้วยว่ากินส่วนไหน ปริมาณเท่าใด ความถี่มากน้อยเพียงไร และในรูปแบบใด จึงจะสามารถป้องกันและรักษาโรคได้.
ที่มา: นวพรรษ บุญชาญ. คอลัมน์ คุณหมอขอบอก. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2554





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทดสอบลิงค์

ขับเคลื่อนโดย Blogger.